บัวบก... มากกว่าแค่ขับปัสสาวะ

บัวบกเป็นพืชล้มลุก ชนิดข้ามปี มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Centella asiatica (L.) Urban ในวงศ์ Umbelliferae เป็นพืชสมุนไพรที่มีการใช้มานาน ตามตำรายาไทยใช้บัวบกรักษาอาการช้ำใน บำรุงหัวใจ บำรุงร่างกาย ขับปัสสาวะ รักษาโรคผิวหนัง
ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยทางคลีนิกค่อนข้างมากโดยพบว่าบัวบกมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดดำ อาทิ ความดันในหลอดเลือดดำสูง (venous hypertension) เส้นเลือดขอด หรือในกรณีที่ต้องเดินทาง เช่น การนั่งเครื่องบินหรือรถโดยสารนานๆ (เกินกว่า 3 ชั่วโมง) อาจทำให้เกิดอาการบวมที่ข้อเท้าเนื่องจากภาวะอุดตันหรืออุดกั้นของเส้นเลือดดำ ทำให้น้ำและของเหลวคั่งอยู่บริเวณต่างๆพบว่าสามารถบรรเทาอาการไดด้วยบัวบก โดยการรับประทานสารสะกัดบัวบก วันละ 3 ครั้งก่อนการเดินทาง 2 วันและหลังวันเดินทาง 1 วัน คาดว่าเกิดจากการที่บัวบกช่วยเพิ่มการไหลเวียนของหลอดเลือดขนาดเล็ก (microcirculaion) จึงช่วยลดอาการที่เกี่ยวข้องกับเส้นเลือดได้ นอกจากนั้นแล้วบัวบกยังมีฤทธิ์สมานแผล ทำให้แผลปิดเร็วขึ้น ป้องกันการเกิดแผลเน่าเปื่อย โดยมีผลทำให้เพิ่มการสังเคราะห์คอลลาเจน เพิ่มปริมาณไฟโบรเนกตัน (fidronectin) จึงมีการพัฒนาบัวบกในรูปแบบยาใช้ภายนอกหรือยารับประทาน มีการวิจัยสกัดแยกสารสำคัญ asiaticoside จากบัวบกนำมาทดลองที่ความเข้มข้น 0.2% และ 0.4% มาใช้ทาแผลหลังผ่าตัด หรือแผลกดทับก็พบว่าให้ผลดีมากเช่นกัน โดยทำให้ขนาดแผลลดลง ความลึกของแผลลดลงได้อย่างรวดเร็ว มิใช่เฉพาะแผลภายนอกเท่านั้นที่สามารถรักษาได้ด้วยบัวบกแต่แผลภายในกระเพาะอาการก็ใช้บัวบกได้แทนเช่นกัน โดยการศึกษาในสัตว์ทดลองที่ถูกทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารพบว่าบัวบกช่วยลดขนาดของแผลเปื่อยได้ จึงเป็นสมุนไพรที่มี แนวโน้มในการใช้บำบัดอาการแผลในกระเพาะอาหาร
บัวบกยังมีประโยชน์อีกหลายหลายไม่ว่าจะเป็นการปกป้องเซลล์ประสาท และผลต่อการเรียนรู้และความเข้าใจ ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็ง ...
บัวบก...มากกว่าแค่ขับปัสสาวะ (2)
ต่อเนื่องจากฉบับที่แล้วในเรื่องของบัวบกที่มีสรรพคุณมากมาย ตั้งแต่บรรเทาอาการความดันในหลอดเลือดดำสูง ช่วยสมานแผล ทั้งแผลภายนอกหรือแผลภาพในของกระเพาะอาหาร ดังนั้นฉบับนี้ขอกล่าวถึงสรรพคุณของบัวบกในด้านอื่นๆต่อ
บัวบกเป็นสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้ในรูปแบบของอาหารเสริมสุขภาพเพื่อป้องกัน หรือชะลอการดำเนินของโรคที่จะเกิดจากการทำลายเซลล์ประสาท อาทิ การถดถอยการทำงานของสมอง ความจำเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากสมองส่วนความคิด ความจำ และการเรียบเรียงคำพูดถูกทำลาย ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยนำสมุนไพรอย่างบัวบกมาใช้ในการป้องกัน หรือชะลอการดำเนินของโรค เพราะ ผลการทดลองยืนยันว่าบัวบกมีฤทธิ์ป้องกันเซลล์ประสาท (neuroprotective) ช่วยฟื้นฟูเซลล์ประสาท (regeneration) และยังเสริมสร้างการเรียนรู้และความจำให้ดีขึ้น มีการทดลองหนูขาวที่มีอายุมาก (aged rats) ที่รับประทานบัวบกขนาดวันละ 300 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน สามารลดการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (ต้นเหตุของอนุมูลอิสระ) ในสมอง จึงช่วยลดการทำลายของเซลล์ประสาทในสมองได้ นอกจากนั้นในการทดลองหนูขาวที่ได้รับสารสกัดจากบัวบกด้วยเอทานอลวันละ 300-330 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม พบว่าจะช่วยเร่งการซ่อมแซมเซลล์ประสาทที่ถูกทำลายได้ สำหรับฤทธิ์บัวบกที่ช่วยในเรื่องกระบวนการเรียนรู้และความจำนั้น ก็มีการศึกษาในหนูที่ได้รับน้ำคั้นบัวบกขนาด 200 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม กินติดต่อกัน 14 วัน เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับบัวบก พบว่าหนูที่ได้รับบัวบกมีการเรียนรู้และความจำดีขึ้น คาดว่าคุณสมบัติเหล่านี้ของบัวบกเกิดจากฤทธิ์แอนติออกเดชัน (antioxdation) เป็นสำคัญ ซึ่งฤทธิ์นี้มีการศึกษาด้วยวิธี oxygen consumption method และ differential scanning พบว่า บัวบกของไทยมีค่าดัชนี antioxidant ในพืชสด 4.65 และพืชแห้ง 7.98 ของตัวอย่าง แห้ง 100 กรัม ซึ่ง antioxidant ประกอบด้วย เบตาแคโรทีน 12.76 มิลลิกรัม และสารประกอบฟินอลิค 98.44 มิลลิกรัม ก็ถือว่าเป็นพืชที่มีฤทธิ์แอนติออกซิเดนท์สูงทีเดียว
นอกจากฤทธิ์ข้างต้นแล้วบัวบกยังเป็นยานอนหลับอย่างอ่อน (mild sedative) จะทำให้ระยะเวลาในการนอนหลับนานขึ้น มีฤทธิ์ต้านการซึมเศร้า ต้านมะเร็งทั้งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองช่วยปกป้องกล้ามเนื้อหัวใจ ต้านเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas pyocyaneus และ Trichoderma mentagrophytes และต้านเชื้อไวรัส Herpes simplex ที่เป็นสาเหตุของโรคเริม งูสวัดได้ด้วย การศึกษาวิจัยการใช้บัวบกจะไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง แต่ก็ควรระมัดระวังในการรับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ และมีรายงานบัวบกมีฤทธิ์คุมกำเนินในหนูดังนั้นจึงต้องระวังการใช้ในสตรีมีครรภ์
คุณค่ามากมายจากบัวบก เป็นทั้งผักพื้นบ้านและยาบำรุงสุขภาพ พืชใกล้ตัวที่มากกว่าแค่ขับปัสสาวะจริง ๆ
สมุนไพร แก้ฟกช้ำ ช่วยให้แผลหายเร็ว
ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ ผักหนอก ผักแว่น
ชื่อวิทยาศาสตร์ Centella asiatica Urban
วงศ์ Umbeliferae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
บัวบกเป็นพืชล้มลุก ขึ้นเป็นกอติดดิน มีอายุหลายปี ลำต้นเลื้อยไปตามพื้นดิน แตกราก และใบตามข้อ ใบเป็นเดี่ยว รูปไตออกเป็นกระจุกตามข้อ ขอบใบหยัก ก้านใบยาว ดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อเล็กๆ ประมาณ 3-4 ดอก ดอกสีม่วงแดง ผลแบน
การปลูก
บัวบกขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและไหล ตัดแยกไหลที่มีต้นอ่อนและมีรากงอก นำไปปลูกในที่ชื้นแฉะ แต่ต้องมีแดดพอสมควรเป็นพืชที่ขึ้นง่าย
ส่วนที่ใช้เป็นยา ต้นและใบสด
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บใบที่สมบูรณ์เต็มที่
สาระสำคัญ
ในลำต้นและใบมีสารที่สำคัญคือ กรดมาดีคาสสิค (madecassic acid), กรดเอเซียติก (asiatic acid) สารเหล่านี้ จะมีฤทธิ์ในการสมานแผล ช่วยในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดเชื้อเป็นหนองในได้อีกด้วย
ประโยชน์ในทางการรักษา
1. ใช้รักษาแผลสด แผลเรื้อรัง หรือแผลหลังผ่าตัด บัวบกจะช่วยลดอาการอักเสบ ช่วยให้แผลหายเร็ว และแผลเป็นมีขนาดเล็ก
2. ใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
วิธีใช้
ใช้ใบบัวบกสดทั้งต้น 1 กำมือ ล้างน้ำให้สะอาด ตำให้ละเอียด เอาน้ำทาบริเวณที่เป็นแผลเป็นบ่อยๆ ใช้กากพอกด้วยก็ได้ จะช่วยลดอาการอักเสบและทำให้แผลหายเร็วขึ้น ปัจจุบันทดลองในรูปครีมของสารสกัดจากบัวบก 1 % ใช้ได้ดี
3.แก้อาการฟกช้ำ ช่วยให้เลือดกระจายตัว ชาวจีนเชื่อกันว่า บัวบกแก้ฟกช้ำ แก้ช้ำใน ทำให้เลือดกระจายตัวหายฟกช้ำได้ดี แก้กระหายน้ำ และบำรุงร่างกายได้อีกด้วย
วิธีใช้
มักใช้ในรูปของผักสด และเตรียมเป็นเครื่องดื่ม ประเทศฝรั่งเศสมีการพัฒนายาจากบัวบก โดยทำในรูปของครีมทาแผล ยาผงโรยแผล ยาเม็ดรับประทาน พลาสเตอร์ปิดแผล และในรูปยาฉีด เพื่อใช้ในการรักษาแผลสด และแผลหลังผ่าตัด ในประเทศไทย มีผู้ทดลองเตรียม ครีมจากสารสกัดบัวบกเพื่อใช้ทาแผล และบริเวณฟกช้ำ ใช้รักษาได้ผลดี
จาก ภาควิชาสรรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย