ยาสีฟัน เปลือกมังคุด ใบฝรั่ง ใบพลู
เพื่อรักษาแผลในปากและดับกลิ่น
ในปี พ.ศ.2544 แฟนประจำของผลิตภัณฑ์สมุนไพรอภัยภูเบศรร้องเรียนมาว่าทางเรายังไม่มียาสีฟันสมุนไพรออกมาเลย และเขามีปัญหาปากเป็นแผลบ่อยๆและมีกลิ่นปาก ทีมงานวิจัยและพัฒนาจึงค้นคว้าหาสมุนไพรเพื่อแก้ปัญหาปากเป็นแผลบ่อยๆ ซึ่งก็พบว่า
เปลือกมังคุด เหมาะสมที่สุดสำหรับรักษาแผลในปาก
สำหรับเรื่องดับกลิ่นนั้นรู้กันทั่วอยู่แล้วว่า ใบฝรั่งขี้นก ดีที่สุด
และอีกตัวที่จะช่วยลดเชื้อโรคเพื่อหวังผลในการดับกลิ่นและลดปัญหาของเหงือกและฟันคือ ใบพลู
ความยากของตำรับนี้คือการหาใบฝรั่งขี้นก เพราะหาซื้อในท้องตลาดไม่มี ส่วนเปลือกมังคุดนั้น ตอนนั้นทางโรงพยาบาลเริ่มพัฒนาสบู่เปลือกมังคุดแล้วจึงไม่มีปัญหาเรื่องวัตถุดิบ สำหรับใบพลูก็พอหาได้ไม่ยาก
แต่ในที่สุดเราก็แก้ปัญหาได้เพราะในหมู่บ้านดงบัง ที่เราเข้าไปทำงานส่งเสริมการปลูกวัตถุดิบสมุนไพรเกษตรอินทรีย์นั้น พอมีต้นฝรั่งขี้นกเหลืออยู่ ซึ่งเจ้าต้นฝรั่งขี้นกสามต้นแรกที่เราค้นพบนั้นน่าสงสารมากเพราะถูกเด็ดใบเสียเกือบเกลี้ยง
ปัญหาต่อมาคือเราพบว่าต้นทุนของการผลิตสูงมากถ้าผลิตออกมาแข่งกับยาสีฟันสมุนไพรในท้องตลาด แต่เราก็ตัดสินใจผลิตออกมาเพราะคิดว่าเราไม่ได้ทำเพื่อเป็นสินค้าตลาด แต่เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะคน และที่สำคัญเราคิดว่าอย่างน้อยเราก็ช่วยอนุรักษ์พันธุกรรมฝรั่งขี้นกเอาไว้
หลังจากผลิตออกมาเราก็ได้รับการยืนยันจากนายแพทย์ระดับสูงท่านหนึ่งที่มีปัญหาเรื่องปากและเหงือกเป็นแผลบ่อยๆ ว่าใช้แล้วดีมาก ยินยอมเป็นผู้ยืนยันรวมทั้งมีผู้สร้างและกำกับภาพยนตร์และละครทีวีที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งถึงขนาดเดินทางมาโรงพยาบาลหลังจากที่ใช้ยาสีฟันสมุนไพรสูตรนี้แล้ว สามารถแก้ปัญหาเรื่องโรคเหงือกที่ตนเองเป็นอยู่ แต่ในขณะเดียวกันเราก็พบว่ามีบางท่านใช้ยาสีฟันนี้แล้วมีอาการแพ้ใบพลู เช่นมีอาการรอบๆปาก ลอกออกมา บางรายลดปริมาณยาสีฟันที่ใช้ลงแล้วพบอาการก็ดีขึ้น แต่ทางเราขอว่าให้หยุดใช้ไปเลยถ้าพบว่ามีอาการคันๆรอบปากหลังจากใช้
ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงเพื่อตัดหรือลดใบพลูออกสำหรับสูตรเดิมได้รับการขอร้องว่าห้ามเลิกผลิตเด็ดขาด ถึงขนาดบอกว่าผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดของอภัยภูเบศรคือยาสีฟันนี่แหละ
ยาสีฟันสูตรนี้จึงมีทั้งเสียงบ่นและเสียงเชียร์ในเวลาเดียวกัน แม้จะมีอัตราบริโภคเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่ผู้บริโภคเดิมเหนียวแน่นมากไม่เปลี่ยนใจ
จากคอลัมภ์ "ก้าวย่าง" โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร
ของวารสาร "อภัยภูเบศรสาร" ปีที่ 4 ฉบับที่ 38 ประจำเดือน สิงหาคม 2549
สำหรับท่านที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถฝากคำถามไว้ที่ Webboard (สอบถาม) หรือโทรสอบถามได้ที่ 01-9272862, 09-1583525 หรือ ฝาก e-mail address ของท่านตาม mail ที่อยู่ด้านล่าง