เอนไซม์
เคยสังเกตไหมคะว่า เวลาเราตัดเถาตำลึง สักครู่หนึ่งจะมียางใสๆไหลออกมา หรือเวลาปอกแอปเปิ้ล สักพักเนื้อแอบเปิ้ลจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล นั่นคือกลไกการรักษาพยาบาลและการเยียวยาตัวเอง เพื่อไม่ให้เนื้อเยื่อที่เหลืออยู่ถูกทำลายหรือเน่าเสีย สิ่งที่ทั้งตำลึงและแอปเปิ้ลขับออกมานั่นคือ...เอนไซม์
หรือเวลาที่เราตักข้าวเข้าปาก เคี้ยวได้สักพักก็จะรู้สึกหวาน ทั้งๆที่ข้าวนั้น ออกจะจืดในตอนแรก นั่นเพราะเอนไซม์ในปากของเราชื่อ PTYALIN หรือ AMYLASE เปลี่ยนข้าวหรือแป้งในปากให้เป็นกลูโคส ร่างกายของเราต้องการกลูโคสไปเลี้ยงสมอง เพื่อให้สมองและประสาททำงานได้ นี่คือความสำคัญของเอนไซม์ที่เราพอจะเห็น
เอนไซม์มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตในโลก ถ้าไม่มีเอนไซม์ก็ไม่มีชีวิต
เอนไซม์มีหน้าที่กระตุ้นหรือเริ่มต้น (CATALYST) ให้วงจรหรือระบบต่างๆของชีวิตทำงาน เพื่อจุดประสงค์สองประการ
1. ป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ชีวิตนั้น หรือถ้าอันตรายเกิดขึ้นแล้ว ก็ป้องกันไม่ให้อันตรายนั้นลุกลามหรือร้ายแรงยิ่งขึ้น
2. เอนไซม์จะทำหน้าที่ส่งเสริมหรือบำรุงให้ระบบต่างๆของชีวิต ทำงานได้ดีหรือง่ายขึ้น
เราสามารถเสริมเอนไซม์ให้ร่างกายได้อย่างไร
เราสามารถเสริมเอนไซม์ให้แก่ร่างกายได้ด้วยอาหารค่ะ แต่ทว่าเมื่อเราเคี้ยวอาหาร เอนไซม์ในอาหารจะถูกทำลายหรือเปลี่ยนสภาพด้วยเอนไซม์ ตั้งแต่ในปากเรื่อยไปถึงกระเพาะอาหาร จึงแนะนำให้คั้นเอาแต่น้ำทำเป็นน้ำดื่ม เอนไซม์ในอาหารจะผ่านปาก ลำคอ ถึงกระเพาะ ไปสู่ลำไส้ โดยไม่ต้องถูกย่อย และสามารถดูดซึมเข้ากระแสเลือดไปใช้ได้ทันที
อย่างไรก็ตาม เราต้องรู้จักธรรมชาติของเอนไซม์กันเสียก่อน เอนไซม์ถูกทำลายได้ง่ายมากเมื่อ
-ถูกความร้อน การต้ม ผัด นึ่ง ลวก ทำให้เอนไซม์ในผักตายหมด
-ถูกกระแสไฟฟ้าหรือกระแสแม่เหล็ก ถ้าคุณใช้เครื่องปั่นไฟฟ้า เอนไซม์จะตายหมด แต่ถ้าใช้เครื่องแยกกาก (Juicer) ซึ่งแยกกากไปทาง น้ำไปทาง จะใช้ได้
-ถูกเอนไซม์ตัวอื่นๆทำลาย
วิธีการทำน้ำเอนไซม์ดื่มที่ง่ายที่สุดคือ
-ใช้เครื่องแยกกาก (แต่แพง) คั้นเอาน้ำออกจากเนื้อผักหรือผลไม้
-นำผักหรือผลไม้ที่ต้องการไปสับ คั้น หรือตำ แล้วคั้นแยกน้ำออกจากกากด้วยผ้าขาวบาง จะได้น้ำเอนไซม์แบบธรรมชาติ ราคาถูก และภูมิใจดีด้วย เนื่องจากเราทำทุกอย่างด้วยมือของเราเอง
-หลังจากคั้นได้น้ำเอนไซม์แล้วควรดื่มทันทีภายในครึ่งชั่วโมง เพราะหากทิ้งไว้นานเอนไซม์ก็จะสลายตัวได้ แต่ละวันควรสลับผักหรือผลไม้ที่จะนำมาคั้น ดื่มช่วงบ่ายๆตอนท้องว่างแทนค็อฟฟี่เบรคได้สบายค่ะ
ประโยชน์ของเอนไซม์ในผักแต่ละชนิด
น้ำคั้นจากแครอท - ช่วยในการล้างไขมัน และช่วยการทำงานของตับ
น้ำคั้นจากคึ่นฉ่ายหรือเซเลอรี่ - ช่วยในการทำให้เลือดสะอาดขึ้น ช่วยในการเผาผลาญคอเลสเตอรอล
น้ำคั้นจากรากบัวหลวง - ช่วยในการหายใจและการทำงานของปอด ช่วยให้กระบวนการเผาผลาญอาหารและพลังงานทำได้ดีขึ้น
น้ำคั้นจากมะระ - ช่วยในการฟอกเลือด และการทำงานของไต
น้ำคั้นจากกระเทียม - ช่วยในการฆ่าเชื้อโรค
น้ำคั้นจากแคนตาลูปและแตงโม - ช่วยในการทำงานของไต
น้ำคั้นจากลูกใต้ใบ - ช่วยในการทำงานของตับและไต
น้ำคั้นจากตำลึง - ช่วยในารสมานแผลในกระเพาะอาหาร
เอนไซม์ในพืช คือผักและผลไม้ มีอยู่หลายชนิด และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง จึงไม่ควรดื่มน้ำคั้นชนิดใดชนิดหนึ่งซ้ำๆกันเป็นเวลานาน ควรผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนชนิดบ้าง เพื่อให้ได้คุณประโยชน์ที่หลากหลาย และยังแก้เบื่อได้ด้วย
จาก ชีวจิต online
www.cheewajit.com
เอนไซม์ (อังกฤษ: enzyme) เป็นโปรตีนที่ทำหน้าที่เร่งปฏิกิริยาเคมี
เอนไซม์มีความสำคัญและจำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิต เพราะว่าปฏิกิริยาเคมีส่วนใหญ่ในเซลล์จะเกิดช้ามาก หรือถ้าไม่มีเอนไซม์อาจทำให้ผลิตภัณฑ์จากปฏิกิริยากลายเป็นสารเคมีชนิดอื่น ซึ่งถ้าขาดเอนไซม์ระบบการทำงานของเซลล์จะผิดปรกติ (malfunction) เช่น
-การผ่าเหล่า (mutation)
-การผลิตมากเกินไป (overproduction)
-ผลิตน้อยเกินไป (underproduction)
-การขาดหายไป (deletion)
เอนไซม์ (enzyme) ก็คือโปรตีนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ทั้งในพืชและสัตว์ มันมีหน้าที่กระตุ้นการทำงานของกระบวนการเคมีในร่างกายให้ทำงานรวดเร็วขึ้น เอนไซม์แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ:
1. เอนไซม์ที่ช่วยในการเผาผลาญพลังงาน (metabolic enzyme) เอนไซม์ชนิดนี้อยู่ในเลือด เนื้อเยื่อ อวัยวะต่างๆ เช่นในวงจรเคมีที่เรียกว่า วงจรเครป (Kreb's cycle) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาเผาผลาญอาหารให้เป็นพลังงานในเซลล์ของคนเรา ปฏิกิริยาเครปก็ต้องอาศัยเอนไซม์หลายตัว กระตุ้นให้วงจรเคมีดำเนินไปได้ และเกิดเป็นพลังงานให้เซลล์ของเรา ในเซลล์ร่างกายของเรายังมีเอนไซม์อีกบางจำพวก เอาไว้สลายสารเสียที่เซลล์ไม่ต้องการ เช่น เอนไซม์ SOD ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ
2. เอนไซม์ในอาหาร (food enzyme) เอนไซม์ชนิดนี้มีอยู่ในอาหารสด ในเซลล์สัตว์และเซลล์พืช เอนไซม์เหล่านี้บรรจุอยู่ในถุงเรียกว่าไลโซโซม (lysosome) เมื่อถุงของมันแตกออกก็จะย่อยสลายสารอาหารให้กลายเป็นโมเลกุลเล็ก ๆ เพื่อจะได้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายของคนเราได้ง่ายขึ้น
3. เอนไซม์ย่อยอาหาร (digestive enzyme) เอนไซม์ชนิดนี้อยู่ในระบบทางเดินอาหารของคนและสัตว์ มันหลั่งออกมาจากเยื่อเมือกบุกระเพาะลำไส้ จากตับและตับอ่อน ทำหน้าที่ย่อยอาหารจากโมเลกุลใหญ่ให้เล็กลง ทำให้ถูกดูดซึมได้
การทำงานของเอนไซม์จะขึ้นอยู่กับบริเวณ active site ว่ามีความจำเพาะกับ ซับเสรตตัวไหน